ปัจจุบันบริบทขององค์กรทั้งทางภาครัฐและเอกชนมีความสลับซับซ้อนมากและมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ทำให้ยากแก่การเข้าใจถึงปัญหา วิธีการแก้ไข การปรับตัว และการบูรณาการ นักบริหารทั้งภาครัฐและเอกชน รวมตลอดถึงองค์การที่ไม่มุ่งหวังกำไรจึงจำเป็นจะต้องมีองค์ความรู้ที่กว้างขวาง ครอบคลุมถึงขอบข่ายและเนื้อหาสาระของการบริหารภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคที่ไม่มุ่งหวังกำไร มีทักษะที่จะวิเคราะห์วางแผนและบริหารงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดสำหรับองค์การที่ตนรับผิดชอบ ผู้บริหารยุคใหม่จึงควรมีทัศนภาพทั้งทางการบริหารภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะทำให้มีมุมมองที่กว้าง ครอบคลุม และมีความเข้าใจทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค ซึ่งจะช่วยให้เป็นนักบริหารที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศที่ต้องการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ตามบริบทของศตวรรษที่ 21
จากสถานการณ์ภายนอกซึ่งจำเป็นต้องมีความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงเห็นควรที่จะพัฒนาหลักสูตรที่ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสศึกษาองค์ความรู้ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษามีความเข้าใจในความสัมพันธ์ของทั้งสองภาค และความจำเป็นในความร่วมมือตลอดจนการประสานงานกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ประกอบกับองค์ความรู้ทางด้านรัฐประศาสนศาสตร์และการบริหารธุรกิจ มีเนื้อหาบางส่วนที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ สามารถจัดให้เรียนร่วมกันได้ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะจัดให้มีการเรียนการสอนควบกันระหว่างปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตและปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต เหมือนเช่นที่ทำกันอย่างแพร่ หลายในต่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงตัดสินใจที่จะเป็นผู้นำในการเปิดการเรียนการสอนทวิปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์ และบริหารธุรกิจขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยเริ่มเปิดรับสมัครนักศึกษาเข้าเรียนเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2546 และยังเปิดรับสมัครที่ส่วนภูมิภาค สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติจังหวัด อีก 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลพบุรี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดชัยภูมิ


มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีปรัชญาของมหาวิทยาลัยอย่างหนึ่ง คือ การเป็นมหาวิทยาลัยตลาดวิชาแห่งเดียวในประเทศไทย ความหมายของตลาดวิชาหมายความว่า มหาวิทยาลัยมีความพร้อมที่จะจัดให้มีการเรียนการสอนสาขาวิชาต่างๆ ที่หลากหลายเพื่อให้ประชาชนมีโอกาสเลือกที่จะเข้ามาศึกษาในสาขาวิชาที่เห็นว่ามีประโยชน์ต่อการทำงานและอาชีพของตน พันธกิจของการเป็นตลาดวิชาดังกล่าวส่งผลให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงจำเป็นต้องสร้างสรรค์ความหลากหลายของสาขาวิชาที่เปิดสอนตามความพร้อมของมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ในคณะรัฐศาสตร์ และสาขาบริหารธุรกิจ ในคณะบริหารธุรกิจมาเป็นเวลานาน มีความพร้อมในด้านอาจารย์ ตำรา และเอกสารประกอบคำสอน ประกอบกับความจำเป็นที่จะต้องผลิตบุคลากรที่มีทัศนภาพของทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต จึงควรที่จะเปิดสอนหลักสูตรทวิปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์และบริหารธุรกิจ เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่สนใจ
ปัจจุบันมีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วทั้งหมด 21 รุ่น (ส่วนกลาง 16 รุ่น และส่วนภูมิภาค 5 รุ่น) และมีนักศึกษาที่กำลังศึกษาในชั้นเรียนอยู่ ส่วนกลาง 2 รุ่น และส่วนภูมิภาค 9 รุ่น ปรากฏการณ์ปัจจุบัน คือ จำนวนผู้สมัครเข้าศึกษาในหลักสูตรทวิปริญญาโทฯ มีแนวโน้มมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงความมีชื่อเสียงในด้านคุณภาพของหลักสูตรทวิปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์และบริหารธุรกิจ ทั้งนี้ ในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หลักสูตรทวิปริญญาโททางรัฐประศาสนศาสตร์และบริหารธุรกิจ ได้มีการพัฒนาและปรับปรุง อาทิเช่น ปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน การประเมินผลและปรับปรุงมาตรฐานหลักสูตร พัฒนาบุคลากรด้านการเรียน การสอน และการพัฒนาหลักสูตร เป็นต้น